Custom Search

เจ้าหญิงอโยธยาผู้มาเป็นราชินีแดนโสม ตำนานสองพันปีเชื่อมสัมพันธ์อินเดีย-เกาหลีใต้

นอกจากตำนานโบราณแล้ว ยังไม่พบหลักฐานอื่นที่ยืนยันว่าเจ้าหญิงสุรีรัตนามีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์
ตำนานในบันทึกโบราณเรื่องหนึ่งของเกาหลีใต้ ซึ่งไม่สู้จะเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายนัก กำลังได้รับการเล่าขานใหม่อีกครั้งหลังกาลเวลาผ่านไปนานเกือบสองพันปี โดยตำนานนี้เอ่ยถึงบรรพสตรีของสองตระกูลใหญ่ในเกาหลีใต้ ซึ่งเชื่อว่าเป็นราชธิดาจากเมืองอโยธยาของอินเดีย ผู้ข้ามน้ำข้ามทะเลมาอภิเษกสมรสกับกษัตริย์แห่งแคว้นโบราณของเกาหลี
เรื่องราวของเจ้าหญิงสุรีรัตนา หรือ "ราชินีสกุลฮอ" เป็นเพียงข้อความสั้น ๆ ที่บันทึกไว้ในหนังสือโบราณเล่มหนึ่ง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญไม่ถือว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้ด้วยซ้ำ ทั้งยังไม่พบหลักฐานอื่น ๆ ที่ยืนยันว่าพระนางมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ตำนานนี้กลับมีความสำคัญต่อชาวเกาหลีใต้หลายล้านคนในปัจจุบัน ทั้งยังช่วยเชื่อมสัมพันธ์ทางการทูตและการค้าระหว่างเกาหลีใต้และอินเดียให้แน่นแฟ้นขึ้นอีกมาก
นางคิม จอง ซุก สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของเกาหลีใต้ เพิ่งเข้าร่วมในพิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อสร้างสวนสาธารณะและอนุสรณ์สถานรำลึกถึงราชินีสกุลฮอ ในเมืองอโยธยาของรัฐอุตตรประเทศในวันนี้ (6 พ.ย.) หลังจากที่เธอและสามีคือประธานาธิบดีมุน แจ อิน ของเกาหลีใต้ ได้เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
นางคิม จอง ซุก สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของเกาหลีใต้ เดินทางไปยังเมืองอโยธยาระหว่าง
การเยือนอินเดีย
ตำนานแห่งเจ้าหญิงหยกสีเหลือง
หนังสือโบราณ "ซัมกุก ยูซา" (บันทึกแห่งสามราชอาณาจักร) ซึ่งรวบรวมตำนานและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเกาหลีเอาไว้ ชี้ว่าเจ้าหญิงสุรีรัตนาซึ่งมีชื่อเกาหลีว่า "ฮอ ฮวาง อ๊ก" เสด็จจากอาณาจักร "อายุทา" มายังคาบสมุทรเกาหลีเมื่อราวค.ศ. 48 และได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งราชวงศ์คารัก ตระกูลของเจ้าผู้ครองนครรัฐกึมกวันกายา ซึ่งปัจจุบันคือเมืองคิมแฮในเกาหลีใต้
หลักฐานจากเอกสารภาษาจีนบางฉบับระบุว่า เทพเจ้าได้มาเข้าฝันกษัตริย์แห่งอโยธยา ให้ส่งราชธิดาวัย 16 ชันษาไปอภิเษกสมรสกับกษัตริย์คิม ซูโร โดยพระนางมีโอรสให้กับกษัตริย์ต่างแดนผู้นี้ถึง 10 พระองค์ด้วยกัน และทั้งสองต่างครองคู่อยู่กันจนสิ้นอายุขัยที่ยืนยาวถึง 150 พรรษา
ภาพในจินตนาการของเจ้าหญิงสุรีรัตนา 
หรือราชินีฮอ ฮวาง อ๊ก
ทั้งนี้ สันนิษฐานว่าชื่อสกุล "ฮอ" ของพระนางในภาษาเกาหลี น่าจะมาจากตัวอักษร "ซู" ในภาษาจีน ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า "สุ" ในชื่อสุรีรัตนา ส่วนชื่อตัว "ฮวาง อ๊ก" มีความหมายว่าหยกสีเหลืองหรืออัญมณีโทพาซ (Topaz) ซึ่งตรงกับความหมายของพระนามในภาษาบาลี-สันสกฤต
เดวิด แคนน์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีแผนกภาษาเกาหลีรายงานว่า เรื่องราวของเจ้าหญิงสุรีรัตนานั้นถือว่าเป็นเพียงตำนานปรัมปรา ซึ่งนักวิชาการไม่นับว่าเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้ มีการนำตำนานนี้ไปสร้างเป็นละครและแต่งเป็นนิยายหลายเรื่องหลายรูปแบบ เนื่องจากตำนานที่คลุมเครือไม่ชัดเจนเปิดช่องให้มีการตีความและเสริมแต่งเรื่องราวได้อย่างไม่จำกัด
นักวิชาการชาวเกาหลีใต้บางคนสันนิษฐานว่า อาณาจักร "อายุทา" ที่เจ้าหญิงสุรีรัตนาจากมา อาจหมายความถึงอาณาจักรอยุธยาของไทยก็เป็นได้ แต่ก็มีข้อเท็จจริงที่แย้งว่า ในยุคนั้นอาณาจักรอยุธยายังไม่มีอยู่ ทั้งยังก่อตั้งขึ้นภายหลังยุคของพระนางกว่าพันปี
ส่วนเมืองอโยธยาในชมพูทวีป ซึ่งถือว่าเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์เพราะเป็นที่ประสูติของพระรามในเรื่องรามเกียรติ์นั้น ในยุคของเจ้าหญิงสุรีรัตนาผู้คนจะเรียกชื่อเมืองนี้ว่า "สาเกต" ไม่ใช่เมืองอโยธยาซึ่งเป็นชื่อเรียกขานในยุคหลัง
ราชวงศ์คารักคือต้นตระกูลของชาวเกาหลีหลายล้านคน
สกุลคิมสายเมืองคิมแฮ ซึ่งเป็นสายเลือดของราชวงศ์คารักที่สืบทอดมาจากกษัตริย์คิม ซูโร และราชินีฮอ ฮวาง อ๊ก จากแดนภารตะโดยตรง ปัจจุบันเป็นหนึ่งในสายสกุลคิมที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีและมีสมาชิกจำนวนหลายล้านคน ตำนานโบราณยังระบุว่า ราชินีสกุลฮอทรงเสียพระทัยที่ไม่มีราชบุตรผู้สืบชื่อสกุลของตนเอง กษัตริย์คิม ซูโร จึงโปรดให้โอรสสองพระองค์ใช้ชื่อสกุลฮอ ทำให้ยังมีชาวเกาหลีใต้ผู้ใช้นามสกุลนี้อยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน
นายคิม จอง พิล (ซ้าย) และนายคิม ฮุน ชุล (ขวา) บุตรชายของอดีตประธานาธิบดีคิม ยัง ซัม ผู้ล่วงลับ ต่างก็สืบเชื้อสายจากราชวงศ์คารัก
นักประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ชี้ว่า ทุกวันนี้สกุลคิมและสกุลฮอแห่งเมืองคิมแฮมีสมาชิกรวมกันกว่า 6 ล้านคน คิดเป็น 10% ของประชากรเกาหลีใต้ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงอดีตประธานาธิบดีคิม แด จุง และอดีตนายกรัฐมนตรีคิม จอง พิล ของเกาหลีใต้อีกด้วย
ปัจจุบันลูกหลานของทั้งสองตระกูลยังได้เก็บรักษาอับเฉา หรือหินถ่วงน้ำหนักในท้องเรือลำที่เจ้าหญิงสุรีรัตนาใช้ล่องมายังคาบสมุทรเกาหลีเอาไว้เป็นอย่างดี ทางการอินเดียยังรายงานว่า ในแต่ละปีมีชาวเกาหลีใต้เดินทางไปเยือนเมืองอโยธยาเป็นจำนวนมาก และตัวเลขผู้มาเยือนจากแดนโสมขาวกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งน่าจะเป็นเพราะสำนึกความผูกพันที่มีต่อบรรพสตรีจากชมพูทวีป
อย่างไรก็ตาม ชาวเกาหลีใต้หลายคนบอกว่า ตำนานราชินีสกุลฮอจากแดนภารตะเพิ่งจะมาเป็นที่เล่าขานกันหนาหูและผู้คนเริ่มให้ความสนใจกันมากเมื่อไม่นานมานี้เอง บางคนเคยได้ยินตำนานนี้ไม่กี่ครั้งในวัยเด็ก บ้างก็ว่าตำนานนี้เป็นเหมือนเรื่องตลกประจำครอบครัวที่เอาไว้ล้อเลียนลูกหลานที่มีผิวคล้ำว่าสืบเชื้อสายมาจากคนอินเดีย
"แม้หลายคนจะเชื่อว่าราชินีสกุลฮอมาจากดินแดนโพ้นทะเลทางใต้จริง ๆ แต่ก็มีหลักฐานบ่งชี้ว่า ตำนานนี้ถูกแต่งเติมให้พิสดารและน่าสนใจมากขึ้น ก็ต่อเมื่อถึงยุคที่พุทธศาสนาหยั่งรากมั่นคงในดินแดนเกาหลีแล้วเท่านั้น" เดวิด แคนน์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีแผนกภาษาเกาหลีกล่าว
ตำนานช่วยกระชับสัมพันธ์อินเดีย - เกาหลีใต้ในยุคใหม่อย่างไร ?
ตำนานของเจ้าหญิงสุรีรัตนาผู้กลายมาเป็นราชินีสกุลฮอของเกาหลีนั้น ทำให้เกิดการลงนามในข้อตกลงปี 2000 ซึ่งทั้งสองประเทศให้คำมั่นว่าจะพัฒนาคิมแฮและอโยธยาให้เป็นเมืองพี่เมืองน้องกัน
ประธานาธิบดีมุน แจ อิน ของเกาหลีใต้และภริยา ถ่ายภาพร่วมกับบรรดาผู้นำของอินเดีย ระหว่างเยือนกรุงนิวเดลี
ในปีต่อมา นักประวัติศาสตร์ของอินเดียและเกาหลีใต้กว่า 100 คน รวมทั้งผู้แทนรัฐบาลเกาหลีใต้ และเอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือประจำอินเดีย ต่างเข้าร่วมพิธีเปิดอนุสาวรีย์ของราชินีสกุลฮอบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสรายุ (Saryu) ในเมืองอโยธยา ทำให้หลังจากนั้นมีชาวเกาหลีใต้ผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์คารัก เดินทางมาเยือน "แผ่นดินแม่" และเข้าสักการะอนุสรณ์สถานแห่งนี้กันจำนวนมาก
ในปี 2016 คณะผู้แทนของทางการเกาหลีใต้ ได้ยื่นเสนอแผนการต่อรัฐบาลของรัฐอุตตรประเทศ เพื่อร่วมกันพัฒนาและขยายพื้นที่อนุสรณ์สถานของราชินีสกุลฮอออกไปอีก ซึ่งเป็นที่มาของการเยือนอินเดียโดยสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 4-7 พ.ย. นี้ และถือเป็นการเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียว โดยภริยาของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ครั้งแรกในรอบ 16 ปี

ระหว่างการเยือนอินเดียของผู้นำเกาหลีใต้
เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีมุน แจ อิน
และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ได้ลงนามในข้อตกลงทางการค้าทวิภาคี ซึ่งมุ่งเป้าจะเพิ่มมูลค่าของการค้าระหว่างกันให้เป็น 2 เท่า หรือ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2030 โดยข้อตกลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งเกาหลีใต้เชื่อว่า อินเดียสามารถเป็นตลาดใหญ่
อีกแห่งหนึ่ง ที่จะช่วยถ่วงดุลและลดการพึ่งพาตลาดจีนของตนลงได้

ศ. คิม โด ยัง ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีศึกษาซึ่งประจำที่กรุงนิวเดลีของอินเดีย แสดงความเห็นว่า "ตำนานราชินีสกุลฮอเพิ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับในหมู่ชาวอินเดียเมื่อไม่นานมานี้เอง หลังจากความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศเฟื่องฟูขึ้น"
"ไม่ว่าตำนานนี้จะเป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ หรือเป็นเพียงตำนานปรัมปราที่แต่งขึ้นก็ตาม แต่มันได้ช่วยปิดช่องว่างทางใจและจิตวิญญาณระหว่างผู้คนของสองประเทศ ทำให้ทั้งคู่ได้มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมร่วมกัน" ศ. คิม กล่าว

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

รายการบล็อกของฉัน