Custom Search

มนุษย์รู้จักหมักเบียร์ได้ก่อนปลูกข้าวหลายพันปี


นักโบราณคดีค้นพบครกหินเก่าแก่อายุ 13,000 ปี ในถ้ำราคีเฟต( Raqefet ) ของอิสราเอล และตามสถานที่ขุดค้นทางโบราณคดีหลายแห่งใกล้ชายฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยร่องรอยที่หลงเหลืออยู่บนครกหินชี้ว่า มนุษย์โบราณสามารถหมักเบียร์จากธัญพืชไว้ดื่มมานานหลายพันปี
ก่อนจะเริ่มรู้จักการเพาะปลูกเสียอีก

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในครั้งนี้ มีความเก่าแก่ยิ่งกว่าเครื่องปั้นดินเผาอายุ 5,400 ปี ซึ่งมีร่องรอยการหมักเบียร์จากมณฑลส่านซีทางตอนเหนือของจีนมาก ทำให้นักโบราณคดีคาดว่าครกหินเหล่านี้เป็นหลักฐานชี้ถึงการทำเบียร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เท่าที่เคยมีการค้นพบมา

ทีมนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของสหรัฐฯ และมหาวิทยาลัยไฮฟาของอิสราเอล ร่วมกันตีพิมพ์รายงานการค้นพบดังกล่าวในวารสาร Journal of Archaeological Science: Reports ว่าการหมักเบียร์ในครกหินเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชาวนาทูเฟียน (Natufian) ซึ่งเป็นกลุ่มคนโบราณที่มีชีวิตอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างยุคหินเก่ากับยุคหินใหม่

แผนที่แสดงตำแหน่งถ้ำและจุดขุดค้นโบราณวัตถุใกล้ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน รวมทั้งภาพครกหินที่ใช้หมักเบียร์

ชาวนาทูเฟียนนั้นแม้จะดำรงชีวิตด้วยการเก็บของป่าและล่าสัตว์ แต่ก็เริ่มรู้จักตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนเป็นหลักแหล่งกันบ้างแล้ว โดยรู้จักเลือกเก็บเมล็ดธัญพืชป่าในท้องถิ่นเช่นข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ แล้วนำมาเพาะให้งอกเป็นมอลต์ (Malt)เพื่อนำไปหมักเบียร์ หรือนำไปตากแห้งแล้วเก็บไว้ใช้ในครั้งต่อไป โดยจะบรรจุมอลต์ใส่ในภาชนะสานด้วยใยพืชก่อนนำลงเก็บในครกหินที่ปิดด้วยฝาทำจากแผ่นหินอีกครั้ง

จากการตรวจสอบร่องรอยการใช้งานครกหินที่ทำจากหินทั้งก้อน รวมทั้งครกที่เป็นหลุมหินในชั้นหินดานที่พื้นถ้ำ พบว่าชาวนาทูเฟียนน่าจะหมักเบียร์เพื่อใช้ดื่มระหว่างการทำพิธีกรรมต่าง ๆ โดยใช้ครกหินตำธัญพืชและหมักเบียร์ รวมทั้งประกอบอาหารจากวัตถุดิบหลากหลายเช่นข้าวโอ๊ตและถั่วเมล็ดแห้ง
ทั้งนี้ มนุษย์เริ่มรู้จักทำการเกษตรและเพาะปลูกธัญพืชแทนการเก็บของป่าเมื่อราว 11,000 ปีก่อน โดยการตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งทำให้มีความต้องการผลิตและสะสมอาหารอย่างเป็นระบบ ซึ่งในกรณีของชาวนาทูเฟียนนี้ ความต้องการธัญพืชเพื่อใช้ทำเบียร์ได้อย่างสม่ำเสมอ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรรมพัฒนาขึ้นในเวลาต่อมา

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

รายการบล็อกของฉัน