Custom Search

พบ ฟอสซิลลูกนก จากยุคไดโนเสาร์อยู่ในอำพัน

🐥ลูกนกตัวนี้อยู่ในกลุ่มอีแนนทีออร์นีทีส (Enantiornithes) ซึ่งสูญพันธุ์ไปพร้อมๆกับไดโนเสาร์ในช่วงสิ้นสุดยุคครีเทเชียส เมื่อราว 65 ล้านปีก่อน การสำรวจครั้งนี้ที่ได้รับเงินสนับสนุนส่วนหนึ่งจากคณะกรรมการเพื่อการเดินทางสำรวจของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ได้ให้ข้อมูลใหม่ที่สำคัญเกี่ยวกับนกที่มีฟันในยุคโบราณชนิดนี้ และความแตกต่างระหว่างพวกมันกับนกในปัจจุบัน
ลูกนกตัวนี้ยังเป็นฟอสซิลสภาพสมบูรณ์ที่สุดที่ค้นพบในอำพันจากพม่าด้วย ซึ่งขุดได้จากเหมืองในหุบเขา Hukawng ทางตอนเหนือของพม่า
จากรูปแบบการผลัดขนของมัน นักวิจัยระบุได้ว่า ลูกนกตัวนี้มีอายุเพียงไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ตอนที่มันถูกห่อหุ้มด้วยยางไม้เหนียวๆและแช่แข็งอยู่ในกาลเวลา ร่างของมันเกือบครึ่งหนึ่งได้รับการรักษาสภาพไว้ในตัวอย่างขนาด 7.5 เซนติเมตร รวมถึงส่วนหัว ปีก ผิวหนัง ขน และเท้าที่มีกรงเล็บซึ่งมองเห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า ขนของมันมีหลายสีตั้งแต่สีขาวและน้ำตาลไปจนถึงเทาเข้ม

การค้นพบครั้งนี้รายงานโดยนักวิจัยกลุ่มเดียวกับที่ค้นพบหางของไดโนเสาร์เทอโรพอดที่มีขนซึ่งคงสภาพอยู่ในอำพันเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โครงสร้างของขนไดโนเสาร์บ่งชี้ว่ามันน่าจะบินไม่ได้ ในทางกลับกัน การค้นพบปีกของอีแนนทีออร์นีทีสในอำพันก่อนหน้านี้เผยให้เห็นโครงสร้างของขนที่คล้ายคลึงกันอย่างน่าทึ่งกับขนของนกที่บินได้ในปัจจุบัน

🐤ในตัวอย่างชิ้นนี้ 
นักวิทยาศาสตร์สังเกตเห็นว่า ขณะที่ลูกนกอีแนนทีออร์นีทีสมีขนสำหรับบินขึ้นเต็มที่บนปีกแล้ว ขนส่วนที่เหลือกลับหร็อมแหร็ม และเหมือนกับขนของไดโนเสาร์เทอโรพอดซึ่งไม่มีก้านขน (rachis) มากกว่า

การรักษาสภาพอันน่าทึ่ง: คนงานเหมืองอำพันที่ค้นพบตัวอย่างนี้คิดว่าพวกเขาพบกรงเล็บกิ้งก่า “แปลกประหลาด” จนกระทั่งนักวิจัยตระหนักว่า เท้านี้เป็นของนกจากยุคไดโนเสาร์

การที่นกวัยเยาว์เช่นนี้มีขนสำหรับบินช่วยสนับสนุนแนวคิดที่ว่า นกอีแนนทีออร์นีทีสฟักออกจากไข่พร้อมกับความสามารถในการบิน ซึ่งทำให้มันพึ่งพาการดูแลจากพ่อแม่น้อยกว่านกในปัจจุบันส่วนใหญ่

กระนั้น การไม่ต้องพึ่งพาพ่อแม่ก็มีต้นทุนที่ต้องจ่าย นักวิจัยชี้ว่า อัตราการเติบโตที่ช้าทำให้นกโบราณเหล่านี้สุ่มเสี่ยงมากขึ้นเป็นเวลานานขึ้น ตามหลักฐานที่พบนกอีแนนทีออร์นีทีสวัยเยาว์จำนวนมากในอำพัน
(ซ้าย) นกยุคแรก : ขนที่ได้รับการรักษาสภาพไว้แสดงให้เห็นว่า ลูกนกตัวนี้ตายในระหว่างการผลัดขนครั้งแรก ซึ่งชี้ว่ามันถูกฝังอยู่ในอำพันในช่วงวันแรกๆหรือสัปดาห์แรกๆของชีวิต (ขวา) มองกลับไปในอดีต : กระดูก ผิวหนัง และเนื้อเยื่ออ่อน ทั้งหมดนี้ล้วนถูกห่อหุ้มอยู่ในอำพัน ทำให้นักวิทยาศาสตร์
ได้ข้อมูลเฉพาะเกี่ยวกับไดโนเสาร์โบราณกลุ่มหนึ่งซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้ว
ละทิ้งรัง : ขนจากปีกของลูกนกแสดงว่า มันสามารถบินได้ทันทีหลังฟักออกจากไข่ ผิดกับนกในปัจจุบันส่วนใหญ่
นกตัวนี้อยู่ในกลุ่มนกโบราณที่มีฟันชื่อว่า อีแนนทีออร์นีทีส ซึ่งสูญพันธุ์ไปพร้อมๆกับไดโนเสาร์ การจำลองขึ้นมาใหม่นี้จับท่าทางของลูกนกตามที่ได้รับการรักษาสภาพไว้ในอำพัน

พบฟอสซิลวาฬ 43 ล้านปีมี 4 ขาที่เปรู

🕵️‍♂️นักบรรพชีวินวิทยานานาชาติจากเปรู ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ และเบลเยี่ยม ขุดพบซากฟอสซิลวาฬยุคดึกดำบรรพ์ อายุ 43 ล้านปี มี 4 ขา ตีนเหมือนเป็ด ที่ประเทศเปรู ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และจากการตรวจวิเคราะห์เชื่อว่า สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมขนาดความยาวลำตัว 4 เมตรตัวนี้ ปรับร่างกายให้สามารถว่ายน้ำ และเดินบนบกได้ 

👨นักวิจัยเชื่อว่า การค้นพบจะช่วยไขปริศนาวิวัฒนาการของวาฬ และวิธีการแพร่ขยายพันธุ์ของพวกมัน ดร.โอลิเวีย แลมเบิร์ต นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งราชสำนักเบลเยียม กล่าวว่า นี่เป็นตัวอย่างฟอสซิลวาฬ 4 ขา ที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด เท่าที่เคยมีการขุดพบนอกอินเดียและปากีสถาน 

🐋ฟอสซิลวาฬตัวนี้ถูกพบในดินตะกอนชายฝั่ง ประมาณ 1 กิโลเมตรจากชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ในเขตเมืองปลายา เมเดีย ลูนา สถานที่พบสร้างความตื่นเต้นแก่ทีมนักวิจัย เนื่องจากเชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดวิวัฒนาการของวาฬที่พบในเอเชียใต้ เมื่อประมาณ 50 ล้านปีก่อน
เนื่องจากร่างกายของพวกมันปรับตัวให้เข้ากับน้ำได้มากขึ้น เชื่อว่าพวกมันอพยพต่อไปยังแอฟริกาเหนือ และอเมริกาเหนือ ที่ซึ่งมีการขุดพบซากฟอสซิล และการค้นพบล่าสุดบ่งชี้ว่า วาฬ 4 ขาสามารถว่ายน้ำจากทวีปอเมริกาใต้ไปยังภูมิภาคต่างๆ ที่กล่าวมา.

สุสานของกษัตริย์โมโซรุส

สุสานของกษัตริย์โมโซรุส 
The Mausoleum 
at Halicarnassus



สถานที่ตั้ง :เมืองฮาลคาร์นาซซัส ประเทศตุรกี

⛪สุสานมุสโซเลียมแห่งฮาลิคานาสซัสหรือโมโซรุส กษัตริย์แห่งเอเซียไมเนอร์ หรือเปอร์เซียในปัจจุบัน สร้างโดยพระมเหสีชื่อ อาเตมีสเซีย

ซึ่งเป็นทั้งพระขนิษฐาของพระองค์ด้วย ความตายของพระสวามี ทำให้พระนางเสียพระทัยมากถึงขนาดผสมเถ้าถ่านกระดูกของพระสวามีกับเครื่อง ดื่มของพระองค์ จึงสร้างสุสานไว้เป็นที่ระลึก คำว่า MAUSOLEUM จึงถูกใช้ขนานนามสุสานขนาดใหญ่ ๆ ในเวลาต่อมา


สุสานเก่าแก่ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกนี้ เป็นผลงานของนายช่างผู้สร้างสรรค์ทั้ง 4 คน ด้วยกัน คือ ฟิดิอัส , ชาติรัสบายฮาซีส , สโคปปาส และ ทิโมทิอัส สร้างด้วยหินอ่อน ในปี ค.ศ. 156 – 190

มีขนาดสูงถึง 140 ฟุต ฐานโดยรอบยาวถึง 460 ฟุต บนยอดสุดเป็นพื้นเหลี่ยม เล็กกว่าฐานล่าง ได้ปั้นเป็นรูปราชรถและม้า 1 ชุด กำลังวิ่ง และ มีกษัตริย์พระมเหสียืนอยู่บนราชรถม้า ประกอบด้วยลวดลาย สวยงามมาก

ในปัจจุบันนี้เหลือแต่ซากปรักหักพังบางส่วนบางส่วนเพราะเกิดแผ่นดินไหวใน ศตวรรษที่ 12 – 13 ขึ้นและชิ้นส่วนเหล่านี้ถูกนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ของประเทศอังกฤษชื่อ บริทิช มิวเซียม

อบอุ่นหัวใจ โรงเรียนกลางหุบเขาในจีนยังคงเปิดสอน แม้มีนักเรียนคนเดียว

🙋‍♂️อ่านเรื่องราวสุดประทับใจ!!
โรงเรียนแห่งหนึ่งกลางหุบเขา
ในประเทศจีน ยังคงเปิดสอนหนังสือตามปกติ แม้มีนักเรียนเพียงคนเดียว

สำนักซินหัว เผยแพร่เรื่องราวที่น่าสนใจของโรงเรียนแห่งหนึ่งกลางหุบเขา ที่เมืองหนิงเซี่ยหุย ประเทศจีน โดยยังคงเปิดสอนหนังสือตามปกติ แม้มีนักเรียนเพียงคนเดียว

โรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านหม่าเถ้าจื่อ เมืองอู๋จง เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุยทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน โดย “หม่าเยี่ยนกั๋ว”
ครูใหญ่ของโรงเรียน อายุ 62 ปี เปิดเผยว่า ทุกเช้าวันจันทร์ หลังรองท้องด้วยไข่ 1 ฟอง เด็กชาย “หม่าเฟิงฉาย” วัย 8 ขวบนักเรียนคนเดียวของโรงเรียนนี้ จะมาเคารพธงชาติ โดยครูหม่าจะเชิญธงขึ้นเสาพร้อมร้องเพลงชาติด้วยเสียงและสำเนียงท้องถิ่นอันเด่นชัดของตัวเองโดยไม่มีเครื่องเสียง ส่วนเด็กชายหม่าจะยืนแสดงความเคารพตลอดพิธี 
“โรงเรียนอื่นๆ ก็จะต้องมีการเคารพธงชาติด้วย ต่อให้มีนักเรียนแค่คนเดียวก็ตาม” ครูหม่ากล่าว

โรงเรียนแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อราว 50 ปีที่แล้ว รองรับครูและนักเรียนกว่า 180 คนในช่วงที่เฟื่องฟู ทว่าทุกวันนี้ เนื่องจากนักเรียนจำนวนมากต้องตามพ่อแม่ที่เข้าไปทำงานในเมือง นักเรียนที่สมัครเรียนที่นี่จึงน้อยลงเรื่อยๆ จนเหลือแค่คนเดียว

สำหรับพ่อแม่ของเด็กชายหม่ายังต้องอาศัยอยู่บนเขตภูเขา สืบเนื่องจากสุขภาพร่างกายที่ย่ำแย่ ครอบครัวของเขามีรายได้จากการทำงานในที่นา เลี้ยงวัวควายและแกะ และยังได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลอีกจำนวนหนึ่ง โดยเด็กชายหม่ายังต้องเรียนหนังสืออยู่ที่นี่ ส่วนพี่สาวของเขาโตพอที่จะย้ายไปเรียนโรงเรียนประจำในเมืองข้างเคียง

ด้านครูหม่าเองยังเลือกจะอยู่ที่นี่ แม้เขาควรจะเกษียณอายุไปตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วก็ตาม ซึ่งเจ้าตัวระบุว่า เด็กชายหม่าต้องพึ่งวิชาความรู้เท่านั้นจึงจะเปลี่ยนชะตาชีวิตได้ เด็กที่ได้รับการศึกษาอย่างดีจะช่วยนำพาครอบครัวหลุดพ้นความยากจน

แม้จะมีเพียงแค่สองคน แต่ตารางเรียนของครูและนักเรียนคู่นี้ยังดูอัดแน่นด้วยชั่วโมงเรียนต่างๆ โดยมีครูหม่ารับหน้าที่สอนหนังสือทุกวิชา

“เราจะยังเปิดโรงเรียนต่อไปตราบเท่าที่มันยังจำเป็นอยู่” สือเอี้ยนอวี้ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษาอำเภอถงซินที่ดูแลหมู่บ้านหม่าเถ้าจื่อ กล่าว

อนึ่ง รัฐบาลจีนมุ่งมั่นจะจัดการศึกษาภาคบังคับแก่นักเรียนทุกคนจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยข้อมูล ณ ปี 2018 เผยว่าจีนมีโรงเรียนขนาดเล็กอย่างโรงเรียนของหม่าในพื้นที่ชนบทห่างไกลราว 101,400 แห่ง แม้โรงเรียนแบบนี้จะมีนักเรียนเพียงน้อยนิด แต่ยังคงได้รับการลงทุนทั้งนโยบายและเงินทุนเพื่อส่งเสริมการบริหารโรงเรียน นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งอินเทอร์เน็ต ยกระดับอุปกรณ์การสอน และปรับเงินเดือนของครูผู้สอน เช่นครูหม่าสอนอยู่ที่โรงเรียนนี้มากว่า 40 ปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลที่เกิดขึ้น

สอดคล้องกับเมื่อปี 2018 กระทรวงศึกษาธิการของจีนออกแผนกระตุ้นให้ครูวัยปลดเกษียณกลับมาทำหน้าที่สนับสนุนการศึกษาในพื้นที่ชนบท และหม่าเยี่ยนกั๋วก็เป็นหนึ่งในนั้น พวกเขาจะได้รับค่าตอบแทนปีละ 20,000 หยวน (ราว 86,000 บาท)

👨‍🏫แม้ว่าครูหม่าจะไม่สามารถสอนวิชาดนตรีหรือศิลปะด้วยตัวเองได้ แต่เด็กชายหม่ายังเข้าไปเรียนบทเรียนที่บันทึกเทปเอาไว้ผ่านระบบการศึกษาทางไกล ซึ่งยังช่วยให้เด็กชายคนนี้สามารถพูดสำเนียงจีนกลางได้ชัดเจน ตรงกันข้ามกับสำเนียงของครูหม่า

“เด็กชายหม่าค่อนข้างขี้อายและอยู่เงียบๆ ตลอดเวลา เนื่องจากไม่ค่อยได้ติดต่อกับโลกภายนอกมากนัก เราจึงพยายามในการกระตุ้นให้เขาพูด บางทีก็ชอบถามคำถามในห้อง เราอยากให้เขาสดใสร่าเริงเหมือนกับเพื่อนๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน” ครูหม่ากล่าว

ครูหม่าและภรรยาซึ่งมีหลานอาศัยอยู่ในเมืองให้ดูแล แต่ทั้งสองย้ายมาอาศัยอยู่ที่โรงเรียนเพื่อดูแลโรงเรียนและนักเรียนเพียงคนเดียว บางครั้งเวลาฝนตกหรือหิมะตก ครูหม่าจะเดินไปส่งเด็กชายตัวน้อยถึงหน้าบ้าน

หลังเลิกเรียนเด็กชายหม่าจะต้องเดินเท้ามุ่งสู่ถนนคดเคี้ยวกลับบ้านเพียงคนเดียว หากพอจะมีเพื่อนก็คงเป็นกังหันลมที่ตั้งตระหง่านอยู่ตามเนินสูง ถึงแม้อย่างแรกที่ต้องทำเมื่อกลับถึงบ้านคือการต้อนฝูงวัวควายและแกะ แต่เขาก็ไม่เคยลืมทำการบ้านให้เสร็จตามเวลาสักครั้ง

“เราจัดสรรเครื่องไม้เครื่องมือเรียนออนไลน์แบบเรียลไทม์ไว้ด้วย หม่าจะได้มี “เพื่อนร่วมชั้น’” และพวกเขาจะได้เห็นหน้ากันและมีปฏิสัมพันธ์กันบ้างผ่านหน้าจอ” ครูหม่ากล่าวทิ้งท้าย

นักวิทยาศาสตร์ยืนยัน คางยื่นแบบราชวงศ์ฮับสเบิร์กเกิดจากสมรสในหมู่เครือญาติ

นักวิทยาศาสตร์ยืนยัน 
คางยื่นแบบราชวงศ์ฮับสเบิร์กเกิดจากสมรสในหมู่เครือญาติ
🎭พระเจ้าชาร์ลส์ที่สองแห่งสเปน กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ฮับสเบิร์กบรรดานักประวัติศาสตร์ทั่วโลกเคยสงสัยกันว่า รูปหน้าที่มีคางยื่นยาวซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสมาชิกราชวงศ์ฮับสเบิร์ก (Habsburg) ราชสกุลที่เคยครองอำนาจในยุโรปยาวนานถึงหลายร้อยปีนั้น น่าจะเป็นความผิดปกติซึ่งเกิดจากเชื้อพระวงศ์นิยมสมรสกันเองในหมู่ญาติพี่น้อง แต่ก็ไม่มีผู้ใดสามารถแสดงหลักฐานที่พิสูจน์ยืนยันข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้

ล่าสุดทีมนักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซานเตียโกเดคอมโพสเตลา (University of Santiago de Compostela) ของสเปน ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาลงในวารสาร Annals of Human Biology โดยแสดงหลักฐานยืนยันว่า คางที่ยื่นยาวหรือ "ขากรรไกรฮับสเบิร์ก" (Habsburg jaw) เป็นผลมาจากความอ่อนแอทางพันธุกรรมเนื่องจากสายเลือดชิดจริง

รูปหน้าที่บิดเบี้ยวดังกล่าวจัดว่าเป็นลักษณะหนึ่งของภาวะการสบฟันผิดปกติ (mandibular prognathism) เนื่องจากขากรรไกรล่างยื่นยาวออกมามากเกินไป พบได้ในหมู่ผู้มีเชื้อสายราชวงศ์ฮับสเบิร์ก ซึ่งเป็นกษัตริย์ผู้ปกครองจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (The Holy Roman Empire) ซึ่งมีอำนาจเหนือหลายแคว้นในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก รวมทั้งสเปนและออสเตรียด้วย

การสมรสในหมู่เครือญาติใกล้ชิด ถือเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันแพร่หลายในหมู่เชื้อพระวงศ์ฮับสเบิร์ก เพื่อรักษาและขยายอำนาจการปกครองในภูมิภาค ทำให้ยีนด้อยที่สืบทอดภายในสายเลือดเดียวกันมีโอกาสแสดงตัวออกมาชัดเจน จนเชื้อพระวงศ์ฮับสเบิร์กแต่ละคนมีใบหน้าที่แสดงอาการขากรรไกรยื่นมากน้อยต่างกันออกไป

🏛กรุงเวียนนาของออสเตรียเคยเป็นศูนย์กลางอำนาจการปกครองของราชวงศ์ฮับสเบิร์กหลายร้อยปี
ความผิดปกตินี้ปรากฏชัดเจนอย่างมากกับพระเจ้าชาร์ลส์ที่สองแห่งสเปน กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ฮับสเบิร์ก ซึ่งพระราชบิดามีศักดิ์เป็นพระมาตุลา (ลุง) ในพระราชมารดา โดยนอกจากจะมีพระพักตร์ผิดรูปรุนแรงจนเสวยพระกระยาหารได้ลำบากแล้ว ยังทำให้พระวรกายแคระแกร็น พระพลานามัยไม่สมบูรณ์ รวมทั้งไม่สามารถมีรัชทายาทได้ เป็นเหตุให้ราชวงศ์ฮับสเบิร์กที่เคยเกรียงไกรต้องล่มสลายไปในที่สุด

ทีมผู้วิจัยได้มอบหมายให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมใบหน้า 10 ราย วิเคราะห์ภาพเหมือนของบรรดาเชื้อพระวงศ์ฮับสเบิร์ก 15 พระองค์ จำนวน 66 ภาพ เพื่อวินิจฉัยว่ามีอาการของภาวะสบฟันผิดปกติ ซึ่งทำให้คางยื่น ปากล่างและปลายจมูกห้อยย้อยหรือไม่

😎บรรดาศัลยแพทย์ได้ให้คะแนนความรุนแรงของอาการขากรรไกรล่างยื่น และขากรรไกรบนเล็กผิดปกติกับเชื้อพระวงศ์แต่ละพระองค์ ซึ่งปรากฏว่าดัชเชสแมรีแห่งเบอร์กันดี มีร่องรอยของอาการดังกล่าวน้อยที่สุด ในขณะที่พระเจ้าฟิลิปที่สี่แห่งสเปน มี "ขากรรไกรฮับสเบิร์ก" ปรากฏชัดเจนที่สุด ส่วนอาการขากรรไกรบนเล็กและสั้นแสดงออกอย่างรุนแรงในเจ้าของภาพเหมือน 5 ราย รวมทั้งพระเจ้าชาร์ลส์ที่สองแห่งสเปนด้วย

ผลวิเคราะห์ยังชี้ว่า ความผิดปกติทั้งสองประเภทข้างต้นมีความสัมพันธ์ทางสถิติมากพอที่จะชี้ว่า เกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรม โดยทีมผู้วิจัยสามารถคำนวณหาความเกี่ยวข้องระหว่างการมีคางยื่นกับระดับความใกล้ชิดทางสายเลือดได้ จากแผนผังสายตระกูลของราชวงศ์ฮับสเบิร์ก ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิก 6,000 คน ใน 20 รุ่น

ศาสตราจารย์โรมัน ไวลาส ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า "ข้อมูลมหาศาลเกี่ยวกับราชวงศ์ฮับสเบิร์ก เปรียบเสมือนห้องทดลองที่ให้โอกาสเราได้เรียนรู้พันธุศาสตร์กับมนุษย์จริง ๆ แม้พวกเขาจะเป็นเพียงบุคคลในประวัติศาสตร์ไปแล้วก็ตาม""ทุกวันนี้ในบางส่วนของโลก รวมทั้งในบางชนเผ่าและกลุ่มความเชื่อทางศาสนาบางกลุ่ม ก็ยังนิยมการแต่งงานภายในเครือญาติอยู่ ดังนั้นงานวิจัยของเราจึงมีความสำคัญ ในแง่ที่จะสังเกตการณ์ผลที่อาจเกิดขึ้นตามมาจากพฤติกรรมนี้"

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

รายการบล็อกของฉัน