Custom Search

ก้นบุหรี่ครองแชมป์ขยะจำนวนมากที่สุดในมหาสมุทร


หลายคนอาจคิดว่าแพขยะขนาดยักษ์ที่ล่องลอยอยู่ในมหาสมุทร น่าจะประกอบไปด้วยชิ้นส่วนของใช้พลาสติกที่มนุษย์ทิ้งขว้างเป็นส่วนใหญ่ แต่ผลการสำรวจในช่วงหลายปีที่ผ่านมากลับพบว่า ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกอีกประเภทหนึ่งคือก้นกรองบุหรี่นั้นเป็นต้นตอก่อมลภาวะในทะเลที่มีจำนวนมากที่สุด

ปัญหาเรื่องก้นบุหรี่ถูกทิ้งเกลื่อนตามชายหาดและสถานที่ต่าง ๆ ได้รับความสนใจอีกครั้ง เมื่อองค์กร Truth Initiative ซึ่งเป็นหน่วยงณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ในสหรัฐฯ ออกมาเรียกร้องให้ห้ามการผลิตและจำหน่ายก้นกรองบุหรี่ โดยอ้างว่านอกจากก้นกรองจะไม่ช่วยลดสารพิษที่เข้าสู่ร่างกายของผู้สูบบุหรี่ได้จริงแล้ว ยังเป็นตัวการสำคัญที่ก่อมลภาวะในมหาสมุทรมากกว่าขยะพลาสติกอื่น ๆ อีกด้วย

องค์กรดังกล่าวระบุว่า ในแต่ละปีทั่วโลกผลิตบุหรี่ได้ราว 5.5 ล้านล้านมวน ในจำนวนนี้เป็นบุหรี่ที่มีก้นกรองราว 4.6 ล้านล้านมวน ซึ่งจะกลายเป็นขยะปริมาณมหาศาลที่แทบไม่สามารถย่อยสลายได้ เนื่องจากไส้กรองบุหรี่ทำจากเส้นใยเซลลูโลสอะซีเตต (Cellulose acetate) ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดหนึ่ง จะต้องใช้เวลานานหลายสิบปีกว่าจะเริ่มสลายตัว

ก่อนหน้านี้องค์กรอนุรักษ์มหาสมุทร Ocean Conservancy ออกมาระบุว่า ตลอดช่วงเวลา 32 ปีที่ผ่านมา โครงการทำความสะอาดบริเวณชายฝั่งที่จัดขึ้นปีละครั้งในหลายประเทศทั่วโลก สามารถเก็บรวบรวมขยะที่เป็นก้นบุหรี่ได้แล้วกว่า 60 ล้านชิ้น โดยคิดเป็นกว่า 1 ใน 3 ของขยะที่เก็บได้ในทะเลทั้งหมด

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าก้นบุหรี่ที่ทิ้งแล้วยังมีอันตรายจากสารพิษที่ตกค้างอยู่ เช่นนิโคติน สารหนู ยาฆ่าแมลง และสารก่อมะเร็งอีกหลายชนิดที่อาจปนเปื้อนในน้ำทะเลและเป็นพิษต่อสัตว์น้ำได้ โดยไม่นานมานี้นักวิทยาศาสตร์พบร่องรอยของสารเคมีดังกล่าวในประชากรนกทะเลถึง 70% และในเต่าทะเลอีกราว 30%

สำหรับประเทศไทยนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีคำสั่งห้ามสูบบุหรี่บริเวณชายหาด 20 แห่งทั่วประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหามลภาวะจากก้นบุหรี่ดังกล่าว โดยคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

รายการบล็อกของฉัน