สัตว์โลกชนิดอื่นมีอารมณ์ความรู้สึกที่ซับซ้อนเหมือนมนุษย์หรือไม่
ความสามารถในการรู้สึกถึงความสุข ความเจ็บปวด และความกลัว ไม่ได้มีแค่ในมนุษย์เท่านั้น อันที่จริงอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมากในการเอาตัวรอดของสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์แล้วอารมณ์ความรู้สึกที่ซับซ้อน เช่น ความเศร้าโศกจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก หรือความไม่พอใจต่อความไม่เป็นธรรมแบบที่พบเห็นได้ในมนุษย์จะมีอยู่ในสัตว์ชนิดอื่นด้วยหรือไม่
นักวิทยาศาสตร์ด้านชีววิทยาวิวัฒนาการ
ด้านพฤติกรรม และด้านสมอง พบว่าระบบประสาทของคนเรามีความคล้ายคลึงกับสัตว์บางชนิดอย่างน่าทึ่ง โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า อารมณ์ความรู้สึกบางอย่างที่มักคิดว่าเกิดขึ้นเฉพาะในมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่ในความจริงแล้วกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น
นี่คือ 5 ตัวอย่างอารมณ์ที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งถูกพูดถึงในหนังสือเรื่อง The Emotional Intelligence of Animals (ความฉลาดทางอารมณ์ของสัตว์) ของ ดร.ปาโบล เฮอร์เรรอส ผู้เชี่ยวชาญด้านไพรเมตวิทยา และมานุษยวิทยา
1. ความรู้สึกถึงความยุติธรรม
ลองปฏิบัติอย่างลำเอียงต่อเจ้าลิงคาปูชินดูสิ คุณจะต้องเผชิญกับปฏิกิริยาอันเกรี้ยวโกรธของพวกมัน!
คนส่วนใหญ่สามารถรับรู้ได้ถึงความยุติธรรมและความอยุติธรรมเช่นเดียวกับลิงคาปูชิน
งานวิจัยจากศูนย์ไพรเมตเยอร์คีส์ ในเมืองแอตแลนตา ของสหรัฐฯ พบว่า ลิงพันธุ์นี้จะไม่ยอมให้ความร่วมมือเวลาที่พวกมันรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
นักวิจัยศึกษาเรื่องนี้โดยให้แตงกวากับลิงคาปูชินกลุ่มหนึ่งเพื่อให้ลิงมอบเหรียญพลาสติกเป็นการตอบแทน
แต่มีลิงตัวหนึ่งในกลุ่มได้รับผลองุ่น ซึ่งเป็นอาหารที่พวกมันโปรดปรานมากกว่าแตงกวา
เมื่อลิงตัวอื่นเห็นเช่นนั้น พวกมันจึงหยุดให้ความร่วมมือในการทดลองทันที แถมบางตัวยังแสดงอาการไม่พอใจด้วยการเขวี้ยงแตงกว่าใส่มนุษย์ด้วย
2. ความรู้สึกอยากแก้แค้น
ช้างที่มีใจผูกพยาบาทจะหาทางแก้แค้นคนที่ทำไม่ดีกับพวกมัน
มนุษย์แทบทุกคนคงจะมีความรู้สึกอยากแก้แค้นขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต แต่เหตุใดสัตว์บางชนิดจึงมีความรู้สึกแบบนี้ด้วย
เมื่อปี 2016 โขลงช้างป่าบุกเข้าเมืองรานชีทางภาคตะวันออกของอินเดีย ทำให้ชาวเมืองต้องหนีตายกันจ้าละหวั่น ช้างโขลงนี้ต่างมองหาศพของช้างเพศเมียตัวหนึ่งที่ตายหลังจากพลัดตกลงไปในคลองชลประทาน
สัตว์หลายชนิดยังแสดงออกถึงความแค้นใจและความพยาบาทคนเลี้ยงที่มีความโหดร้ายด้วย
นอกจากนี้ ลิงชิมแปนซี ยังรู้ด้วยว่าใครเป็นมิตรและใครคือศัตรู และหากคู่อริทำร้ายเพื่อนของมันก็จะมีการแก้แค้นเกิดขึ้น
3. ความรักของแม่
สายใยรักที่แม่ชิมแปนซีมีให้ลูกน้อยมีความแน่นแฟ้นมาก
มนุษย์มักมีความรักและการปกป้องลูกน้อย แต่สัตว์ชนิดอื่นก็สามารถแสดงออกถึงสายใยรักระหว่างแม่และลูกได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
คริสตินา ลิงชิมแปนซีเพศเมียจากแทนซาเนีย คือหนึ่งตัวอย่างของสัตว์ที่แสดงออกถึงความรักอันยิ่งใหญ่ที่มีให้ลูกน้อยของมัน ซึ่งเกิดมาพร้อมกับอาการดาวน์ซินโดรม และโรคไส้เลื่อนจนทำให้มันไม่สามารถลุกขึ้นยืนเองได้
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตเกียว เฝ้าสังเกตพฤติกรรมของคริสตินาและพบว่ามันจะหยุดจากการกินอาหารเพื่อดูแลลูกน้อยของมัน และมันจะไม่ยอมให้ใครอุ้มลูกของมันราวกับรู้ว่าไม่มีใครดูแลลูกได้ดีเท่าตัวมันเอง แต่ในที่สุดลูกสาวตัวน้อยของคริสตินาก็ตายลงตอนอายุ 2 ขวบ
ดร.เฮอร์เรรอส ยังเขียนเกี่ยวกับแม่ช้างและลูกน้อยที่พลัดพรากจากกัน หลังจากลูกช้างถูกขโมยไปฝึกเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวในประเทศไทย
3 ปีต่อมา กลุ่มนักอนุรักษ์ได้ตามหาลูกช้างจนเจอแล้วช่วยนำมันกลับไปหาแม่ที่อยู่ในศูนย์อนุรักษ์แห่งหนึ่ง เมื่อพบหน้ากันพวกมันยืนนิ่งอยู่ 1 ชั่วโมง ก่อนที่จะค่อย ๆ ใช้งวงลูบสัมผัสกันและกันอย่างอ่อนโยน
4. อกหัก
นกแก้วมาคอว์สามารถตายได้เพราะอกหัก
การอกหักและสูญเสียคู่รักอาจสร้างความเจ็บปวดใจแสนสาหัสให้แก่มนุษย์
นกแก้วมาคอว์ ซึ่งมีคู่ครองเดียวตลอดชีวิต ก็มีความรู้สึกอกหักได้อย่างรุนแรงไม่แพ้กัน
โดยหากนกตัวใดตัวหนึ่งตายลงกะทันหัน อีกตัวจะไม่สามารถทนรับความสูญเสียได้ และมักมีอาการตรอมใจไม่ยอมกินอาหารจนร่างกายอ่อนแอลง
บางตัวร่างกายอ่อนแอจนไม่มีแรงเกาะรังที่หน้าผาแล้วร่วงลงสู่ก้นเหวเบื้องล่าง นี่อาจเป็นรูปแบบหนึ่งในการฆ่าตัวตายเพราะความรักของสัตว์ก็เป็นได้
5. ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจและการปลอบประโลมกัน
หนูนาแพรรี จะปลอบประโลมหนูตัวอื่นที่ตกอยู่ในความครียด
มนุษย์มีความสามารถในการปลอบโยนและมีความเห็นอกเห็นใจให้กันและกัน
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อปี 2016 พบว่า หนูนาแพรรี (Prairie vole) จะปลอบประโลมหนูตัวอื่นที่มีอาการเครียด ซึ่งเป็นการค้นพบที่นักวิจัยบอกว่าเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจกัน
ในการทดลองนี้ นักวิจัยจะแยกหนูสองตัวออกจากกัน แล้วใช้ไฟฟ้าช็อตเบา ๆ หนูตัวหนึ่ง จากนั้นเมื่อจับหนูทั้งสองกลับมาอยู่ด้วยกัน หนูตัวที่ไม่ถูกไฟช็อตจะช่วยบรรเทาความรู้สึกไม่สบายตัวให้หนูอีกตัวด้วยการเลียเป็นระยะเวลานานกว่าปกติ เมื่อเทียบกับหนูอีกคู่ที่ถูกจับแยกแต่ไม่ได้ถูกช็อตไฟฟ้า
ทีมนักวิจัยบอกว่า นี่เป็นการแสดงความรักที่ช่วยกระตุ้นให้สมองของหนูที่มีอาการเครียดได้หลั่งสารออกซิโทซิน (oxytocin) หรือที่เรียกว่า "ฮอร์โมนแห่งความรัก" ออกมาซึ่งจะช่วยให้มันรู้สึกดีขึ้น
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอื่นที่พบว่าลิงชิมแปนซีจะช่วยปลอบโยนลิงที่ถูกตัวอื่นแสดงอาการก้าวร้าวใส่ เช่นเดียวกับโลมา ช้าง และสุนัข ก็แสดงพฤติกรรมลักษณะเดียวกัน