ปีนี้เป็นปีที่คนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น คนยุคเบบี้บูม คนเจน X เจน Y เจน Z วันก่อน กลุ่มธุรกิจธอมสัน อินเทลลิเจนล์ ของ วันเดอร์แมน ธอมสัน บริษัทในเครือโฆษณายักษ์ใหญ่สหรัฐฯ ได้สำรวจเรื่อง “เศรษฐกิจสุขภาพในประเทศไทย” (The Well Economy Thailand) ในกลุ่มคน 500 คน (เข้าใจว่าสำรวจพร้อมกันหลายประเทศเพราะมีข้อมูลเปรียบเทียบ) พบว่าคนไทยหันมาใส่ใจเรื่อง “สุขภาพดี” กันมากขึ้น
สุขภาพดี ในความหมายของคนปัจจุบัน ไม่ใช่มีแค่เรื่องการเจ็บป่วยเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆอีกด้วย
ผลสำรวจพบว่า นิยามของคำว่า “สุขภาพดี” ของคนในยุคนี้ ต้องครอบคลุมใน 5 ด้าน คือ สุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพทางเพศ สติสัมปชัญญะ ความสมดุลของการทำงานและการใช้ชีวิต ผลสำรวจพบว่า กลุ่มคนเจน X (เกิดปี 2508-2522) และ เบบี้บูมเมอร์ (เกิดปี 2489-2507) จะให้ความสำคัญของ “สุขภาพจิต” มากกว่า ส่วน คนเจน Z (เกิดปี 2540 ขึ้นไป) และ คนเจน Y มิลเลนเนียล (เกิดปี 2523-2540) จะให้ความสำคัญในเรื่อง “สุขภาพร่างกาย” และ “ความสมบูรณ์แข็งแรง” และให้ความสำคัญกับการควบคุมดูแลอาหาร (Diet) เป็นอันดับหนึ่งมากกว่าการออกกำลังกาย
แรงจูงใจหลัก ในการดูแลร่างกายของคนไทยคือ ต้องการให้ภาพลักษณ์ของตัวเองดูดี (Positive Selt Image) มีสุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคร้ายสูงถึง 82% ส่วน คนเจน Z เจน X 50% ให้ความสำคัญกับการดูแลร่างกายให้ดูดีสมส่วนและสมบูรณ์แข็งแรง มักกังวลในเรื่องน้ำหนักของตัวเองและไม่กำยำล่ำสันมากพอ โดย 89% มองว่า ปัจจุบันการเลือกสิ่งที่ดีต่อสุขภาพเป็นกระแสนิยมที่ห้ามตกเทรนด์
คนไทย 90% เชื่อว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมมีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพไม่ดีอันดับหนึ่ง ก็คือ เรื่องเงินทอง และ การเงินส่วนบุคคล ส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง เพราะทำให้เกิดความเครียด (58%) เช่นเดียวกับผลสำรวจในประเทศอื่นๆ ออสเตรเลีย (52%) จีน (42%) อินโดนีเซีย (60%) และนำไปสู่ วัฏจักรการหาเงินมาแก้ไขปัญหาสุขภาพ วนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่รู้จบ เข้าข่าย “เงินน้อย (ลง) ส่งผลให้เกิดความเครียด เมื่อเกิดสภาวะความเครียดกดดัน ก็กระทบกับสุขภาพกายและใจ ทำให้เจ็บป่วย เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องเสียเงินเพื่อรักษาเยียวยา”
ผลสำรวจพบว่า คนเจน X มีแนวโน้มจะมีความเครียดมากที่สุดในทุกแง่มุมของชีวิต
เมื่อพบว่าป่วย คนไทยจะรักษาตนเองด้วยยาแก้ปวดลดไข้ จากร้านขายยามากที่สุด โดย คนกลุ่มเจน Y (65%) เจน X (73%) จะรักษาตัวเองด้วยยาแก้ปวดทั่วไป เพื่อความรวดเร็วและประหยัดเวลามากกว่าคนรุ่นอื่นๆ และค้นหาข้อมูลของอาการและวิธีรักษาเพิ่มเติมทางช่องทางออนไลน์ ขณะที่ คนยุคเบบี้บูมเมอร์ 46% จะไปหาหมอที่คลินิก
การสำรวจยังพบข้อมูลที่น่าสนใจคือ คนไทยมองว่า “แนวคิดทางพุทธศาสนา” มีผลบวกต่อสุขภาพ โดย คนไทยมีอัตราการทำสมาธิและการบำบัดตนเองสูง ทั้งในแง่ของร่างกายและอารมณ์ เช่น การทำสมาธิ 78% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 51% การผ่อนคลายด้วยสปา 60% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 53% รักษาด้วยการบำบัด 50% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 30% ขณะเดียวกัน “แอปสุขภาพ” ก็ได้รับความสนใจจาก คนเจน Y เจน X เจน Z มากขึ้น โดยเชื่อว่าแอปสุขภาพจะช่วยให้พวกเขามีสุขภาพที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ถึง 81% เลยทีเดียว
ธอมสัน ได้สรุปผลสำรวจถึงสถานการณ์ “เศรษฐกิจสุขภาพ” ของคนไทยในระดับไมโครว่า เป็นดัชนีสำคัญชี้วัดความมั่นคงแข็งแรงและเสถียรภาพของประเทศ เพราะ “คนที่มีคุณภาพ” ย่อมสร้าง “ประเทศที่มี คุณภาพ” ดังนั้น “เศรษฐกิจสุขภาพ” จึงเป็นวาระสำคัญที่ทุกภาคส่วนและคนไทยทุกคนต้องหันมารณรงค์ดูแลป้องกัน ก่อนที่ “ปัญหาสุขภาพ” จะกลายเป็นวัฏจักร “จน-เครียด-ป่วย” จนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศในที่สุด
ก็ไม่รู้ว่า “จน-เครียด-ป่วย” กับ “โง่-จน-เจ็บ” อย่างไหนจะร้ายแรงกว่ากัน.