Custom Search

แบบฉบับของลูกน้องหลากหลายสไตล์

คุณคิดว่าการเป็นหัวหน้างานนั้นยากหรือไม่ และสิ่งที่คุณเองคิดว่ายากที่สุดคือเรื่องอะไร การบริหารจัดการงานของตนเอง หรือการบริหารจัดการลูกน้องของคุณ โดยส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นหัวหน้างานหลายต่อหลายคนมักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การปกครองลูกน้องนั้นค่อนข้างยาก ลูกน้องแต่ละคนจะมีบุคลิกลักษณะหรือนิสัยที่หลากหลายรูปแบบแตกต่างกัน

ดังนั้นหัวหน้างานจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เทคนิค และวิธีการที่ต่างกันในการบริหารและปกครองลูกน้อง ซึ่งหัวหน้างานจะต้องทำความเข้าใจถึงแบบฉบับของลูกน้องแต่ละคน ทั้งนี้ขอสรุปประเภทของลูกน้องที่หัวหน้างานอาจจะต้องเจอะเจอ ดังต่อไปนี้

ลูกน้องหัวดื้อ
ลูก น้องจำพวกนี้ มักจะเลี่ยงหรือปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งหรืองานที่หัวหน้างานมอบหมาย เป็นพวกที่ไม่เชื่อฟัง อยากลองดีกับหัวหน้างาน โดยมักจะอ้างถึงเหตุผลมากมายที่ไม่ยอมทำตามคำสั่งของหัวหน้างาน และเหตุที่ลูกน้องแสดงกิริยาดื้อดึงต่อหัวหน้างาน เป็นเพราะขาดความศรัทธา การไม่ยอมรับนับถือหัวหน้างานคนนั้นว่าเก่งหรือมีบารมีมากกว่า หากหัวหน้างานต้องการบริหารลูกน้องหัวดื้อให้ได้นั้นจำเป็นจะต้องเผด็จการ บ้างในบางสถานการณ์ อีกทั้งต้องพยายามสร้างผลงานอย่างมากให้ลูกน้องยอมรับ เพราะการยอมรับจะนำมาซึ่งความศรัทธา และพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งหรืองานที่หัวหน้างานมอบหมายได้ทุกเมื่อ

ลูกน้องอายุงานมากกว่า
มี หัวหน้างานหลายคนที่ยังกังวลว่าจะบริหารหรือปกครองลูกน้องที่อายุงานมากกว่า ได้อย่างไร หากคุณโชคดีหน่อย เจอลูกน้องที่มีอายุงานมากกว่าและยอมรับนับถือในตัวคุณ คุณก็จะบริหารลูกน้องจำพวกนั้นได้ไม่ยาก แต่หากคุณโชคร้ายต้องควบคุมลูกน้องที่มีอายุงานมากกว่าและไม่ยอมรับในตัวคุณ ชอบนินทาและนำเรื่องของหัวหน้างานไปพูดเสีย ๆ หาย ๆ ในฐานะของหัวหน้างานคุณไม่ควรให้เหตุการณ์เหล่านี้ลอยนวล ก่อนอื่นคุณจะต้องให้ความเคารพลูกน้องคนนั้นในฐานะที่มีอายุ (ตัว) มากกว่า โดยการเรียกพวกเค้าว่า “ พี่ ” หรือเรียกว่า “ คุณ ” ก็ได้ และเพื่อให้พวกเค้ายอมรับนับถือในตัวคุณ คุณเองจะต้องเรียนรู้และเข้าใจในขอบเขตงานให้มากกว่าลูกน้องของคุณ ทั้งนี้คุณจะต้องแสดงทักษะบางอย่างที่มีอยู่ในตัวคุณและมีมากกว่าลูกน้อง พยายามแสดงออกมาให้ลูกน้องเห็นและยอมรับในตัวคุณให้ได้

ลูกน้องที่มีผลงานไม่โดนใจคุณ
หัว หน้างานเกือบทุกคนที่อยากจะให้ลูกน้องทำงานให้ถูกต้องตรงกับความต้องการหรือ ความคาดหวังของตน เพราะผลงานของลูกน้องจะเป็นสิ่งผลักดันให้หัวหน้างานมีผลงานเป็นที่ถูกอกถูก ใจจากผู้บริหารกลุ่มหรือทีมงาน แต่คุณเองคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอะเจอกับลูกน้องที่มีผลงานย่ำแย่ หรือต้องปรับปรุงอย่างมาก แล้วคุณจะทำอย่างไร....คุณไม่ควรตีตราลูกน้องจำพวกนี้ โดยไม่ยอมพัฒนาหรือละเลยที่ไม่มอบหมายงานให้ทำ แต่คุณควรใส่ใจกับลูกน้องที่ว่านี้ไว้ให้มาก พยายามหาทางที่จะพัฒนาพวกเค้า พยายามหาเหตุผลที่ทำให้ลูกน้องมีผลงานที่ไม่โดนใจ นั่นอาจเป็นเพราะการเบื่อหน่ายงาน การไม่มีสิ่งจูงใจให้รู้สึกอยากทำงาน และคุณเองควรจะพยายามหาวิธีจูงใจลูกน้องเหล่านี้ให้รู้สึกอยากทำงานและอยาก พัฒนาตนเองให้มีผลงานที่ดีขึ้น

ลูกน้องขาดความมั่นใจ
มีลูกน้องหลายคนที่วิตกกังวลสูง กลัวไปหมด รู้สึกว่าตนเองไม่ค่อยมีความมั่นใจในการทำงาน ชอบทำงานประจำตามคำสั่งเพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องการทำงานที่ท้าทายเกินไป เพราะคิดว่าตนเองไม่สามารถทำงานชิ้นนั้นให้สำเร็จได้ ส่วนใหญ่มักจะอ้างถึงเพื่อนร่วมงานคนอื่นที่มีความสามารถมากกว่าตนเอง ดังนั้นในฐานะของหัวหน้างาน คุณเองจะต้องพยายามพูดจูงใจให้ลูกน้องมีกำลังใจ พยายามให้โอกาสกับลูกน้องประเภทที่ว่านี้ที่จะรับผิดชอบงานที่ท้าทายมากขึ้น ขณะเดียวกันคุณต้องยกย่องชมเชยพวกเค้าหากสามารถทำงานที่ท้าทายนั้นได้สำเร็จ แต่หากไม่สำเร็จตามที่ต้องการหรือคาดหวังไว้คุณเองก็ไม่ควรว่ากล่าวหรือพูดจาบั่นทอนกำลังใจลูกน้อง เพราะยิ่งจะส่งผลให้พวกเค้าขาดความมั่นใจมากขึ้น คุณควรชี้แนะและเป็นพี่เลี้ยงให้กับลูกน้องประเภทนี้ เป็นกำลังใจและให้โอกาสแก้ตัวใหม่

ลูกน้องเอาแต่พูด
คุณเคยเจอะเจอลูกน้องประเภทที่ว่ารับปากไปหมดซะทุกเรื่อง ทำงานนั้นได้หรือทำงานนั้นไม่ได้ก็รับปากว่าทำได้ไว้ก่อนเสมอ หรือลูกน้องบางคนชอบเสนอโครงการและกิจกรรมใหม่ ๆ อยู่เสมอ แบบว่าชอบเสนอเรื่องโน้นที เรื่องนี้ที แต่ไม่เคยเห็นนำไปปฏิบัติได้จนประสพผลสำเร็จซะที ดังนั้นการที่จะบริหารลูกน้องที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ คุณต้องสื่อสารกับลูกน้องประเภทที่ว่านี้โดยการแจ้งถึงผลงานที่คุณคาดหวังและต้องการให้เกิดขึ้น พยายามสร้างข้อผูกพันกับลูกน้องถึงผลงานที่คุณอยากจะเห็น กำหนดวันเวลาที่จะต้องนำส่งงานแต่ละชิ้น คุณเองยังไม่ควรไว้วางใจลูกน้องกลุ่มนี้ อย่ารอให้ถึงวันกำหนดส่งงาน แล้วมาบอกว่าทำงานไม่ทัน ทำงานชิ้นนั้นไม่ได้ ดังนั้นในช่วงระหว่างการทำงานนั้นคุณควรติดตามผลการทำงานของลูกน้อง หากมีปัญหาที่ลูกน้องทำไม่ได้คุณจะได้เสนอแนะและหาวิธีการในการแก้ไขปัญหานั้น ๆ ร่วมกัน

ลูกน้องที่คิดว่าตนเอง “ แน่ ”
ลูก น้องพวกนี้มักจะชอบดูถูกคนอื่น แม้กระทั่งหัวหน้างานอาจยังไม่ละเว้น เป็นลูกน้องประเภทที่ คิดว่า ตนเองมีความรู้หรือทักษะบางอย่างเหนือกว่า เช่น จบปริญญาโทได้รับเกียรตินิยม มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ มีทักษะการนำเสนองาน ซึ่งเป็นทักษะที่มีมากกว่าทุกคนในหน่วยงานเดียวกันจึงทำให้ตนเองรู้สึก ภาคภูมิใจในความสามารถดังกล่าว คิดว่าตนเองเจ๋งแล้ว ไม่ต้องเกรงใจใคร แสดงพฤติกรรมข่มคนอื่น มักจะพูดจาโอ้อวดว่าตนเองเป็นคนมีความสามารถดีและทุกคนยอมรับ ดังนั้นคุณเองในฐานะหัวหน้างานไม่ต้องหนักใจ แต่คุณควรแสดงฝีมือและความสามารถแบบสุด ๆ เพื่อให้ลูกน้องจำพวกนี้ยอมรับคุณให้ได้ อีกทั้งคุณต้องมีความกล้าพอที่จะปฏิเสธหรือไม่ยอมรับไอเดียของลูกน้องประเภท ที่ว่านี้ โดยการชี้แจงถึงหลักเหตุและผล – ไม่จำเป็นที่คนเก่ง จะเสนอไอเดียที่ถูกต้องเสมอ

ลูกน้องช่างประจบ
การ เป็นหัวหน้างานนั้นต้องถือทางสายกลาง อย่าเอนอียงหรือเห็นดีเห็นงามกับลูกน้องที่ชอบประจบประแจง โดยวัน ๆ ไม่ค่อยจะทำงานอะไร คอยหาวิธีการเอาใจหรือปรนนิบัติหัวหน้างาน เป็นพวกที่พูดจาปากหวานก้นเปรี้ยว อยู่ต่อหน้าหัวหน้างานพูดจาดีมาก สนับสนุนงานและโครงการที่หัวหน้าเสนอ แต่ลับหลังพูดจาให้ร้ายหัวหน้างาน นินทาหัวหน้างานคนนั้นสารพัด ดังนั้นคุณเองในฐานะหัวหน้างานคงจะต้องแยกแยะให้ออกว่าใครทำงานดีหรือไม่ดี อย่าพิจารณาประเมินผลงานหรือเลื่อนตำแหน่งงานจากความชอบหรือไม่ชอบในตัวลูก น้อง เห็นว่าลูกน้องคนนี้ดีเพราะเอาใจเราสารพัด และประเมินให้ A หมดในทุก ๆ ปัจจัยประเมินผล หรือสนับสนุนให้ลูกน้องช่างประจบได้เลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น หากพวกเค้ามีความสามารถที่ดีพร้อมที่จะรับตำแหน่งงานที่สูงขึ้นก็แล้วไป แต่หากพวกเค้าเลื่อนตำแหน่งงานเหตุเพราะเป็นคนเอาใจนายเก่งนั้น คุณอาจจะโชคร้ายเพราะต้องหนักใจกับการบริหารงานของลูกน้องกลุ่มนี้

การบริหารและปกครองลูกน้องหลากหลายสไตล์นั้นเป็นสิ่งท้าทายสำหรับหัวหน้างาน อย่าเพิ่งหนักใจหากคุณไม่สามารถบริหารและควบคุมลูกน้องบางประเภทได้ เรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลาค่ะ แต่คุณเองในฐานะหัวหน้างานต้องเข้าใจธรรมชาติของลูกน้อง เข้าใจเหตุผลในการแสดงออก แล้วสักวันหนึ่งคุณจะสามารถบริหารลูกน้องกลุ่มนี้ได้จากการยอมรับนับถือในตัวคุณ

# บทความโดย : อาภรณ์_ภู่วิทยพันธุ์

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

รายการบล็อกของฉัน