Custom Search

อนามัยโลกระบุ เหนื่อยจากงาน และ ติดเกมเป็นอาการป่วย


เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ระบุให้ "การติดเกม" และ "อาการเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน" เป็นอาการป่วยที่ควรได้รับการรักษาหรือคำแนะนำจากแพทย์

องค์การอนามัยโลก ระบุอย่างเป็นทางการว่า การติดเกม หรือ Gaming disorder เป็นอาการป่วยทางจิตชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในประเภทเดียวกับการติดสารเสพติด หรือพฤติกรรมเสพติดต่างๆ รวมถึง การติดการพนัน โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคมปี ค.ศ. 2022 เป็นต้นไป

WHO ระบุไว้ใน "การจัดหมวดหมู่ของโรคหรือปัญหาทางสุขภาพตามสถิติระหว่างประเทศ" หรือ ICD-11 ว่า อาการติดเกม หมายถึง การเล่นเกมวนเวียนซ้ำๆ ซึ่งนำไปสู่ความบกพร่องในการควบคุมพฤติกรรมนั้นๆ และให้ความสำคัญต่อการเล่นเกมเป็นอันดับแรกเหนือความสนใจอื่นๆ หรือกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน จนเกิดผลเสียต่างๆ ตามมา

อย่างไรก็ตาม บริษัทเกมทั่วโลก รวมถึงสมาคมผู้ผลิตซอฟท์แวร์เพื่อความบันเทิง และสมาคมผู้ผลิตเกมของอังกฤษ ต่างออกมาคัดค้านองค์การอนามัยโลก โดยระบุว่ายังไม่มีงานวิจัยมากพอที่จะรับรองได้ว่าการติดเกมเป็นอาการป่วย และขอให้ WHO พิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง

ขณะที่สมาคมจิตเวชอเมริกัน ชี้ว่า ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่บ่งชี้ว่า อาการติดเกมเป็นอาการป่วยทางจิตชนิดหนึ่ง

ด้านคุณเชคาร์ ซาเซนา ผู้เชี่ยวชาญของ WHO กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า มีรายงานวิจัยที่ชี้ว่า คนที่เล่นเกมถึงวันละ 20 ชม. จะเกิดปัญหาต่อการทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น การทำงาน การนอนหลับ และการรับประทานอาหาร และแม้คนที่เล่นเกมในปริมาณน้อยกว่านั้นก็อาจเกิดผลเสียในลักษณะเดียวกัน ซึ่งการจัดให้อาการติดเกมนี้เป็นอาการป่วย ถือเป็นการส่งสัญญาณให้ป้องกันผลเสียดังกล่าวได้

นอกจาก "อาการติดเกม" แล้ว WHO ยังได้จัดให้ "ความเหนื่อยล้าจากการทำงาน" เป็นอาการป่วยอย่างหนึ่งเช่นกัน

องค์กรอนามัยโลก ให้คำจำกัดความใหม่ของอาการป่วยที่เกิดจากความเหนื่อยล้าในการทำงาน หรือ Burnout syndrome ว่าเกิดจากความเครียดเรื้อรังที่ไม่สามารถควบคุมได้

ในคู่มือ "การจัดหมวดหมู่ของโรคหรือปัญหาทางสุขภาพตามสถิติระหว่างประเทศ" หรือ ICD-11 แม้ WHO จะมิได้ระบุว่าความเหนื่อยล้านี้เป็นโรคทางการแพทย์ แต่ก็ชี้ว่าเป็น "ปรากฎการณ์ด้านการทำงาน" ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพและควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ด้วย

WHO บอกด้วยว่า ความเหนื่อยล้าในที่นี้ หมายถึง อาการหมดแรง หมดพลังงาน จิตใจล่องลอยไปจากงานที่อยู่ตรงหน้า หรือมีความรู้สึกด้านลบอย่างรุนแรงต่องานที่ทำอยู่ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายคนเห็นด้วยกับการปรับคำจำกัดความของ Burnout syndrome ในครั้งนี้ โดยเชื่อว่าจะช่วยให้ผู้ที่มีอาการเหนื่อยล้าจากการทำงานแบบเรื้อรัง สามารถตัดสินใจพบแพทย์เพื่อขอการรักษาได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในประเทศแถบยุโรป ที่คุณหมอจำนวนมากยังอาศัยคู่มือฉบับนี้ของ WHO เป็นแนวทางในการวินิจฉัยโรค

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

รายการบล็อกของฉัน