เมื่อ 21 พ.ค.62 สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า บรรดานักวิทยาศาสตร์กำลังหวั่นวิตกเชื่อว่าโลกอาจเผชิญระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้มาก อันเนื่องมาจากแผ่นน้ำแข็งละลายที่ขั้วโลกกำลังละลาย จากภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์คาดว่าน้ำทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้นมากสุดในระดับต่ำกว่า 1 เมตร ภายในปี ค.ศ.2100 หรืออีก 81 ปีข้างหน้า
จากผลการศึกษาใหม่ ซึ่งได้จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ คาดว่าระดับน้ำทะเลทั่วโลกอาจสูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 2 เท่า ซึ่งจะส่งผลทำให้ประชาชนหลายร้อยล้านคนได้รับผลกระทบอย่างลึกซึ้ง และต้องย้ายที่อยู่อาศัยหนีน้ำท่วม
บีบีซี รายงานด้วยว่า คำถามเกี่ยวกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีข้อถกเถียงกันมากที่สุด โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (IPCC) หลังจากมีรายงานการประเมินครั้งที่ 5 ที่ตีพิมพ์ในปี 2556 ระบุภาวะโลกร้อนที่ยังคงดำเนินต่อไปว่า หากไม่มีการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมากแล้ว สามารถทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นระหว่าง 52-98 ซม. ในปี 2100
แต่ตามความเห็นของนักวิจัยเชื่อว่า ถ้าหากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงอยู่ในทิศทางนี้ต่อไป จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงถึงประมาณ 62-238 ซม. ภายในปี 2100 เลยทีเดียว เนื่องจากอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นประมาณ 5 องศาเซลเซียส โดยปัจจุบันนี้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นแล้ว 2 องศาเซลเซียส ยังคงส่งผลให้แผ่นน้ำแข็งที่กรีนแลนด์
ดินแดนทางเหนือสุดของโลก ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอาร์กติกและเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นปัจจัยสำคัญเดียวที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น แต่ถ้าวันใดที่อุณหภูมิโลกสูงกว่านี้ แผ่นน้ำแข็งที่มหาสมุทรแอนตาร์กที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก จะเริ่มละลาย อันเป็นเหตุให้ระดับน้ำทะเลสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก.