เมื่อปี ค.ศ.1965 นักวิจัยจากยูเครนและรัสเซียร่วมกันออกสำรวจเมืองเมิสเซริช (Mezhyrich) แหล่งโบราณคดี ที่ตั้งอยู่ห่างออกไป 15 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกของประเทศยูเครน พบ “กระท่อมโบราณ – ที่ถูกสร้างจากชิ้นส่วนของแมมมอธ” ฝังลึกลงไปใต้ดินประมาณ 2-3 เมตร เป็นกระท่อมรูปทรงไข่ มีพื้นที่ประมาณ 12-24 ตารางเมตร ซึ่งไม่ได้มีแค่หลังเดียว แต่พบถึง 4 หลังเลยล่ะ
“กระท่อมแมมมอธ” ที่แสดงในงาน Frozen Woolly Mammoth Yuka Exhibit ที่เมืองโยโกยามะ ประเทศญี่ปุ่น ปี 2013
นักวิจัยคาดว่ากระท่อมเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 15,000-14,000 ปีก่อน โดยโครงสร้างประกอบไปด้วยโครงกระดูกแมมมอธที่เรียงซ้อนกัน ประกอบไปด้วยกะโหลก กระดูกสะโพก กระดูกต้นขา กระดูกเชิงกราน และกระดูกสะบัก และนำหนังของแมมมอธมาคลุมกระท่อมเป็นหลังคาอีกที
นอกจากกระท่อมทั้ง 4 หลัง นักวิจัยยังพบหลุมขยะแมมมอธ ลึก 1 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 3 เมตร จำนวน 10 หลุม ที่รวบรวมซากกระดูกแมมมอธไว้มากถึง 149 ตัว และกองเพลิงที่ใช้ไขมัน-กระดูกแมมมอธมาเป็นเชื้อเพลิงอีกจำนวนมาก อีกทั้งยังพบ อุปกรณ์ล่าสัตว์ เครื่องมือหินต่าง ๆ เช่น เข็มสวานใช้สำหรับเจาะรู เครื่องขัด รวมไปถึง เครื่องประดับและงานศิลปะหลายชิ้น อย่างเช่น เปลือกหอย สร้อยลูกปัดงาช้าง หรือ รูปปั้นงาช้างแกะสลัก เป็นต้น ซึ่งหลักฐานเหล่านี้ บ่งบอกว่าในอดีตเมืองเมิสเซริชเคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคน้ำแข็ง
จำลองกระท่อมที่ทำจากชิ้นส่วนแมมมอธ
เพิ่มเติม – การล่าแมมมอธนั้นมีมากมายหลายวิธี และถือเป็นวิถีชีวิตการเอาชีวิตรอดคนมนุษย์ในยุคนั้นด้วยเช่นกัน โดยหลักฐานซากกระดูกแมมมอธพบว่า มีร่องรอยถูกแทงด้วยหอกหลายจุด นักวิจัยจึงสันนิษฐานว่า มนุษย์จะออกล่าแมมมอธกันเป็นกลุ่มใหญ่ ตั้งแต่ 5-10 คนขึ้นไป โดยจะพุ่งหอกที่ผูกเชือกไว้ที่ด้าม เมื่อหอกแทงเข้าตัวหลาย ๆ เล่ม จนแมมมอธอ่อนแรง จากนั้นจะใช้เชือกดึงรั้งจนแมมมอธล้มลงและปลิดชีพมัน
หรืออีกหนึ่งวิธีคือ “หลุมดักช้างแมมมอธ” เป็นหลักฐานการล่ารูปแบบใหม่ถูกพบที่เมืองตุลตีเปก (Tultepec) ทางตอนเหนือของกรุงเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก มีอายุเก่าแก่ราว 15,000 ปี โดยในหลุมที่พบ 2 แห่ง มีชิ้นส่วนกระดูกหลงเหลืออยู่ 824 ชิ้น ซึ่งคาดว่าเป็นของช้างแมมมอธจำนวน 14 ตัวด้วยกัน โดยนักวิจัยจากสถาบันมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์แห่งชาติเม็กซิโก (INAH) ระบุว่า “มนุษย์จะทำการใช้คบเพลิงไล่ต้อนแมมมอธให้ตกลงไปในหลุมที่มีความลึกประมาณ 1.7 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 25 เมตร จากนั้นเมื่อมันติดอยู่ในหลุมไปไหนไม่ได้ ก็ง่ายต่อการลงมือปลิดชีพพวกมัน”
วิธีการตรวจสอบอายุของวัตถุหรือสิ่งมีชีวิตโบราณ ในทางวิทยาศาสตร์จะใช้เทคนิคการตรวจสอบ เรดิโอคาร์บอน (Radiocarbon Dating) หรือ คาร์บอน-14 ซึ่งเป็นธาตุที่กระจายตัวอยู่ในบรรยากาศของโลก มันจะรวมตัวกับออกซิเจน (O2) กลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ดังนั้น เมื่อพืชดูดซับ CO2 ในการหายใจก็จะรับเอาคาร์บอน-14 เข้าไปด้วย และซึมเข้าไปอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของพืช สัตว์ที่กินพืชก็จะรับเอาปริมาณของคาร์บอน-14 เข้าไปเช่นกัน ส่วนมนุษย์ซึ่งกินทั้งสัตว์และพืชก็จะรับเอาปริมาณของคาร์บอน-14 จากการกินสิ่งเหล่านั้นอีกที
ดังนั้นไม่ว่าพืช สัตว์ และมนุษย์จะมีคาร์บอน-14 สะสมอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทั้งสิ้น และจะเริ่มสะสมไปเรื่อย ๆ ตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่ จนกระทั่งสิ่งมีชีวิตนั้นตายลงก็จะหยุดรับคาร์บอน-14 ซึ่งนักวิจัยจะวัดจากวันที่วัตถุหรือสิ่งมีชีวิตนั้นเริ่มต้นรับและหยุดรับคาร์บอน-14 จากนั้นก็จะออกมาเป็นอายุของมันนั่นเอง