Custom Search

ชะตากรรมของชาวชุมชนคลองเตยท่ามกลางการระบาดของโควิด-19

"ตอนนี้ป้าน่าจะตายเพราะไม่มีอะไรจะกินมากกว่าตายจากไวรัส" เสียงบ่นจากแม่ค้าขายของทอดคนหนึ่งในชุมชนคลองเตยหรือที่รู้จักกันดีในชื่อ "สลัมคลองเตย" 
ค้นหา
Custom Search
สะท้อนถึงผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีต่อคนหาเช้ากินค่ำ ชุมชนคลองเตยมีผู้คนอาศัยอยู่กว่า 20,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย พวกเขาเหล่านี้ไม่เพียงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงโรคระบาด แต่ยังอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงที่จะกลายเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เพราะอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด อีกทั้งความยากจนทำให้ไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์มาป้องกันตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัยหรือน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใครต่อใครไปกว้านซื้อมาใช้กัน บีบีซีไทยพูดคุยกับชาวชุมชนคลองเตยบางส่วนว่า พวกเขามีความเป็นอยู่และดูแลตัวเองอย่างไรในภาวะโรคระบาดเช่นนี้ 
😩อยู่ได้ด้วยอาหารบริจาค
นางพันทิรา สุทธิ อายุ 51 ปี ประกอบอาชีพเป็นแม่ค้าขายของทอด บริเวณล็อก 1-2-3 และหน้าโรงเรียนในชุมชนคลองเตย ก่อนหน้าจะเกิดการระบาดของโควิด-19 เธอขายของได้ประมาณวันละ 1,000 บาท แต่ด้วยความยากจนที่ทำให้เธอต้องกลายเป็นหนี้นอกระบบประกอบกับการป่วยเป็นมะเร็งมากว่า 5 ปี เธอจึงหมดเงินไปกับการใช้หนี้และการรักษาตัว ส่วนที่เหลือก็ใช้ดูแลหลานชายวัย 9 ขวบ จนไม่เหลือเงินเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉินเช่นในตอนนี้ "นักเรียนก็ไม่มี คนก็ไม่ออกจากบ้าน ป้าอยากจะออกไปขายของแทบตายแต่ตอนนี้ เงินประทังชีวิตยังมีไม่พอเลยจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อไก่กับลูกชิ้นมาทอดขาย" พันทิราเล่าสถานการณ์ 
พันทิรา สุทธิ ต้องอาศัยอาหารบริจาคเพื่อประทังชีวิต

เพราะขาดรายได้จากการขายของในช่วงนี้ รายได้ที่หายไปในช่วงนี้ พันทิราและสมาชิกในครอบครัวของเธอมีเพียงอาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและข้าวสารที่เพื่อนบ้านแบ่งปันให้ ถ้าได้ข่าวว่าที่ไหนแจกอาหาร ครอบครัวของเธอก็จะพากันไปต่อคิวรับของบริจาค "เงินไม่มี โรคก็กลัว ปกติอยู่บ้านจะไม่ใส่หน้ากากอนามัย แต่ถ้าไปโรงพยาบาลก็ต้องซื้อจากร้านธงฟ้าประชารัฐในชุมชน แม้จะราคาแค่ 10 บาท แต่ก็ถือว่าเป็นเงินเยอะสำหรับป้า เจลแอลกอฮอล์ก็แพง ไม่มีปัญญาซื้อหรอก อาศัยล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ เอา" 

👉"อยากให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือคนจนอย่างจริงใจ อย่ามัวแต่พูด พวกเราจะอดตายกันอยู่แล้ว เวลาคนจนบอกว่าไม่มีเงิน ก็คือไม่มีจริง ๆ ตอนนี้ป้าเครียดมาก ๆ อยากให้สถานการณ์นี้ผ่านพ้นไปไว ๆ" เสี่ยงสูงแต่ไม่มีทางเลือก นางทองเรือง ทองเผือน อายุ 56 ปี ทำอาชีพรับจ้างทั่วไปร่วมกับสามี บอกว่าแม้ว่าชุมชนที่เธออยู่คือบริเวณล็อก 4-5-6 จะยังไม่มีผู้ติดเชื้อ แต่การที่เธอต้องออกจากบ้านไปทำงานข้างนอกทุกวัน ทำให้เธอและสามีเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และอาจจะนำเชื้อนั้นเข้ามาแพร่ในชุมชนก็เป็นได้ 
ทองเรือง ทองเผือน อาศัยอยู่ในชุมชนคลองเตยด้วยความเสี่ยงทั้งจากเชื้อไวรัส และการขาดรายได้จุนเจือครอบครัว

ด้วยความที่ต้องใส่หน้ากากอนามัยออกไปทำงานทุกวัน ทองเรืองเลือกซื้อหน้ากากผ้าที่คนในชุมชนทำขายผืนละ 15 บาทมาใช้ ทุกวันพอกลับถึงบ้านเธอก็จะซักตากให้แห้งแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ซึ่งช่วยประหยัดได้มาก นอกจากหน้ากากผ้าแล้ว ทองเรืองและสามีก็ไม่มีอุปกรณ์อย่างอื่นที่จะใช้ป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัส เพราะไม่มีเงินมากพอที่จะไปซื้อแอลกอฮอล์หรือเจลล้างมือ แม้แต่สบู่ก้อนเธอก็ยังต้องใช้อย่างประหยัด

"คนจนอย่างเรามันไม่มีทางเลือกมากหรอก ถ้าไม่ออกไปหางานทำก็อดตาย ถ้าออกไปแล้วติดเชื้อก็ตายอยู่ดี จริง ๆ ก็กลัวแต่ทำอะไรไม่ได้ เรามีลูกเล็กต้องเลี้ยงอีก 3 คน ถึงจะเสี่ยงแต่ก็ต้องทำ" 
👉ทองเรืองกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ "ตอนนี้ก็ไม่มีใครจ้างงานแล้ว พวกเราไม่มีรายได้เลย แถมเจ้าหนี้ก็เข้ามาทวงไม่หยุดหย่อน อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูชีวิตของคนในชุมชนและช่วยเหลือเรา พวกเราจะไม่ไหวกันอยู่แล้ว"

ในอีกมุมหนึ่งของชุมชนแออัดแห่งคลองเตย ที่บริเวณชุมชน 70 ไร่ น.ส.ลัดดา มั่งมีผล อายุ 26 ปี เพิ่งจบการศึกษาและเริ่มงานที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งบอกว่าเมื่อระบบการป้องกันโรคระบาดของทั้งชุมชนไม่ดี ทุกคนที่อยู่ที่นี่ต่างก็มีความเสี่ยงติดเชื้อพอ ๆ กัน

สภาพแออัดของชุมชนทำให้การแพร่กระจายของโรคเป็นไปได้ง่าย "ลุง ๆ ป้า ๆ ของหนูและชาวบ้านอีกหลายคนในชุมชนนี้เป็นกรรมกรทำงานที่ท่าเรือ เมื่อไม่มีเรือสินค้าเข้ามาเทียบท่า พวกเขาก็ไม่มีรายได้และทำให้มีปัญหาอื่น ๆ ตามมา ตอนนี้หนูก็ถูกให้หยุดงานอยู่ก็เลยมาช่วยกันเย็บหน้ากากอนามัยขาย และช่วยหาเจลแอลกอฮอล์มาแจก" ลัดดากล่าว 

"ตอนนี้เพิ่งได้ยินมาว่ามีคนในชุมชนติดเชื้อ พวกเราก็ยิ่งกลัว เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนมีเงินซื้อหน้ากากอนามัย และพวกเราอยู่อาศัยกันอย่างแออัดมาก"

👉ชุมชนเปราะบาง สลัมคลองเตยเป็นชุมชนแออัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีผู้อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้กว่า 20,000 คน บนพื้นที่ 133 ไร่ ด้วยความหนาแน่นและความยากจนของประชากร ทำให้บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบางสูงต่อการเกิดโรคระบาด วาสนา สนิทหมื่นไวย หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์ มูลนิธิดวงประทีป เป็นผู้ที่ให้ความช่วยเหลือคนในชุมชนคลองเตยในรูปแบบสถานรับเลี้ยงเด็กภาคกลางวัน และจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน

ชุมชนนี้เป็นที่พักอาศัยของเด็ก คนวัยทำงาน คนชรา และผู้ป่วยติดเตียงกว่า 20,000 คน 

"ช่วงนี้คนในชุมชนมีความตื่นตัวเรื่องการป้องกันเชื้อไวรัสกันมาก ตอนนี้ทางเราจะช่วยเป็นหูเป็นตาให้คนในชุมชนโดยจะไม่อนุญาตให้คนนอกพื้นที่ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาในชุมชนเพราะเราไม่รู้ว่าเขาจะเอาโรคจากข้างนอกมาติดคนข้างในหรือเปล่า" วาสนาอธิบาย

👉"ปกติเราจะมีผู้บริจาคชาวญี่ปุ่นและยุโรปเข้ามาเยี่ยมชุมชน แต่เราของดทุกกิจกรรมไปก่อน เพราะในชุมชนมีทั้งเด็กเล็ก คนชรา และผู้ป่วยติดเตียงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ถ้าหากว่ามีคนติดเชื้อขึ้นมาคนหนึ่ง คนทั้งชุมชนอาจจะติดกันหมด"
"ชุมชนนี้มีความเปราะบางมากทั้งในเรื่องของพื้นที่และประชากร เพราะฉะนั้นเราจึงร่วมมือกันรณรงค์ให้คนในชุมชนเข้าถึงวิธีการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อให้ได้ดีและทั่วถึงที่สุดเท่าที่จะทำได้" เจ้าหน้าที่มูลนิธิดวงประทีปกล่าว  

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

รายการบล็อกของฉัน